วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

สวัด ดีปีไหม่คร๊าบ^_^


                                 ขอสวัดดีปีใหม่กับท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ ปีที่ผ่านมานั้นช่างหมุนผ่านไปอย่างรวดเร็วและจบปีลงด้วยความน่ายินดีที่ตลาดทุนไทยเติบโตไปอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปีที่แล้วนั้น ใครเลยจะคาดคิดว่าจะเป็นปีที่ดีที่สุดปีหนึ่งของตลาดทุนไทย เราลองมาทบทวนกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ประเทศไทยแตกต่างไปจากเดิม จนหลายๆ ประเทศต้องเหลียวมามองเราด้วยสายตาใหม่ เพื่อที่จะนำปัจจัยดังกล่าวมาเรียนรู้และขยายผลเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป
ปัจจัยที่สำคัญประการแรกนั้นก็คือ ความแข็งแกร่งของธุรกิจภาคเอกชนที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทยมาอย่างช้านาน การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของภาวะเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมาได้แสดงถึงศักยภาพพื้นฐานของเราในด้านการผลิตและการบริโภคภายในประเทศที่เป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย การกระจายการขยายตัวไปสู่ภูมิภาคของธุรกิจด้านการค้าปลีก ศูนย์การค้า อสังหาริมทรัพย์ และการบริการทางการเงินหลากรูปแบบ ทำให้ธุรกิจไทยได้ตระหนักถึงศักยภาพของตนเองที่ไม่ต้องจำกัดอยู่เฉพาะการประกอบธุรกิจในประเทศเท่านั้น การขยายธุรกิจไปสู่ประเทศอื่นๆ ในประชาคมอาเซียนและนอกประชาคมอาเซียนน่าจะเป็นอีกโอกาสของการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยใช้ศักยภาพและความชำนาญทางธุรกิจของตนเอง ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนเงินลงทุนที่ไปต่างประเทศในปีนี้มียอดสูงกว่าเงินลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาในไทยเสียอีก
บริษัทภาคเอกชนข้างต้นนั้นส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผลการดำเนินงานที่ดีและโอกาสการเติบโตต่อไปจึงส่งผลต่อราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทะยานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมีผลตอบแทนติดอันดับโลกเลยทีเดียว ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ในปี 2555 ปิดที่ 1391.93 เพิ่มขึ้น 366.61 จุด หรือ 35.8% และเมื่อนับรวมผลตอบแทนจากเงินปันผลและสิทธิอื่นๆ โดยใช้ Total Return Index (TRI) พบว่าให้ผลตอบแทนสูงถึง 41.3% ตลาดหุ้นไทยยังเป็นที่สนใจจากผู้ลงทุนต่างประเทศ จะเห็นได้จากยอดซื้อสุทธิในปีที่ผ่านมาที่สูงถึงกว่า 70,000 ล้านบาท โดยก็คงเป็นเฉกเช่นเดียวกับการลงทุนของเรา ที่จะต้องเฟ้นหาเป้าหมายประเทศที่มีศักยภาพการเติบโต พร้อมๆ ไปกับผลตอบแทนที่ดี
ดิฉันเชื่อว่าความแข็งแกร่งของภาคเอกชนไทยนี้ จะยิ่งมีความสำคัญทวีคูณเพิ่มมากต่อไปในระยะยาว เราคงจะเห็นจุดเปลี่ยนของเอกชนไทยในหลายบริษัทที่จะสามารถก้าวข้ามการเป็นเพียงบริษัทที่ทำธุรกิจภายในประเทศไปสู่ธุรกิจระดับภูมิภาคและระดับโลกกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการที่จะยกระดับไปสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ปัจจัยประการถัดไปนั้นน่าจะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในหลายเรื่อง เริ่มจากนโยบายของภาครัฐในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่จะเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจเอกชนทุกภาคส่วน และนโยบายการสนับสนุนด้านการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน รวมทั้งการส่งเสริมการออมในระยะยาว ได้แก่ กองทุนประเภท LTF RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการประกันชีวิต การออมประเภทนี้ถือว่ามีความสำคัญต่อชีวิตของการเป็นลูกจ้างภาคเอกชนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากรายได้ทั้งหมดเป็นเงินเดือนที่ต้องเก็บออมเอง
ดิฉันเชื่อว่าท่านผู้มีเงินเดือนทุกท่านเมื่อลองคำนวณเงินออมที่ได้จากโครงการเหล่านี้แล้ว จะพบว่าเป็นมาตรการที่แยบยลในการทำให้ทุกท่านได้สามารถมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ และอีกหนึ่งวิธีการที่จะทำให้ท่านผู้มีเงินเดือนสามารถมีอุปนิสัยในการออมอย่างสม่ำเสมอและสะดวก ก็คือการออมเป็นรายเดือน โดยการตัดเงินจากบัญชีเงินเดือนของท่านเพื่อทยอยลงทุนในกองทุนระยะยาวดังกล่าว การออมระยะยาวเหล่านี้จะส่งผลดีต่อความมั่นคงทางการเงินส่วนบุคคลซึ่งจะไม่เป็นภาระของภาครัฐในอนาคต และในขณะเดียวกันก็จะเป็นการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาวอีกด้วย
นอกจากนี้ เรื่องความหลากหลายของเครื่องมือและสินค้าในตลาดทุน ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะสามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน สามารถมีกลไกการทำงานด้านราคาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องมือด้านอนุพันธ์ ที่มีซื้อขายในตลาดโอทีซีระหว่างสถาบันการเงินที่มักเป็นคู่สัญญาซื้อขายโดยตรงกับผู้ลงทุนสถาบัน และอนุพันธ์ที่ซื้อขายในตลาดอย่างเป็นทางการ เช่น TFEX ซึ่งในปีนี้ได้เปลี่ยนชื่อภาษาไทยจาก “ตลาดอนุพันธ์” ไปเป็น “ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า” โดยในปีที่ผ่านมามีปริมาณการซื้อขายรวม 10.46 ล้านสัญญา หรือ เฉลี่ยวันละ 43,823 สัญญา เพิ่มขึ้น 6.5% จากปีที่ผ่านมา และเมื่อคำนวณเป็นมูลค่าการซื้อขาย อยู่ที่เฉลี่ยวันละ 22,074 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นปริมาณการซื้อขายของ SET50 Futures 37.6% Gold Futures 33.9% Single Stock Futures 20.2% และ USD Futures 6.3% ตามลำดับ
ความเคลื่อนไหวของตลาดทุนในปี 2556 นี้จะเป็นอย่างไร ปัจจัยที่เกื้อหนุนการเติบโตในปีที่ผ่านมานั้น เริ่มจาก ความเจริญเติบโตของภาคเอกชนก็จะยังคงเดินหน้าต่อไป ในขณะที่ภาครัฐนั้นเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้ทุกภาคส่วนของประเทศได้เดินไปข้างหน้าได้ ส่วนผู้ประกอบการในตลาดทุนได้ขยายธุรกิจออกไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่และบริการที่สะดวกมากขึ้น ทำให้เป็นที่เชื่อได้ว่าตลาดทุนของเราในปี 2556 นี้น่าจะเป็นปีที่ดีอีกปีหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น